汉语 หรือ 中国话 ต่างก็แปลว่าภาษาจีน ซึ่งเป็นภาษาของชนชาติฮั่นหรือชาวฮั่น แต่สำเนียงในการพูดภาษาจีนในแต่ละพื้นที่แตกต่างกันอย่างมาก สำเนียงที่ใช้อยู่ในแต่ละพื้นที่เราเรียกว่า 方言 (fāngyán)แปลว่าภาษาท้องถิ่น

ปัจจุบันนี้เราสามารถแบ่งภาษาจีนให้เป็นภาษาท้องถิ่น 7 ภาษาหลักด้วยกันตามระบบการออกเสียงดังนี้

 

 

1.สำเนียงภาคเหนือ (北方方言 běifāngfāngyán)

北方 แปลว่า ภาคเหนือหรือทิศเหนือ ส่วนประกอบที่สำคัญส่วนหนึ่งของสำเนียงภาคเหนือคือภาษาจีนกลาง (国语 gúoyǔ 华语 húayǔ หรือ 普通话 pǔtōnghuà) ซึ่งถูกกำหนดให้เป็นสำเนียงมาตรฐานและภาษาทางราชการเมื่อปี ค.ศ.1912 โดยยึดเอาสำเนียงปักกิ่งเป็นหลัก

สำเนียงภาคเหนือประกอบด้วยภาษาท้องถิ่นรอง 4 ภาษาดังนี้

1.สำเนียงภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 2. สำเนียงภาคตะวันตกเฉียงเหนือ 3. สำเนียงภาคตะวันตกเฉียงใต้ 4. สำเนียงเจียงหวาย(อยู่ภาคกลางของจีน)

สำเนียงภาคเหนือกระจายไปอยู่ทั่วประเทศจีน โดยเฉพาะภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ ภาคตะวันตกเฉียงเหนือ ภาคตะวันตกเฉียงใต้ และภาคกลางบางส่วน กินพื้นที่มากที่สุด และมีคนจีนชาวฮั่นใช้สำเนียงนี้ 73 เปอร์เซ็นต์

2.สำเนียงหูหนาน (湘方言 xiāngfāngyán)

湘 เป็นชื่อย่อของมณฑลหูหนาน (湖南 húnán) สำเนียงหูหนายกระจายอยู่พื้นที่ส่วนให้ของมณฑลหูหนานและภาคเหนือของมณฑลกวางตุ้ง(广东 guǎngdōng) และมีคนจีนชาวฮั่นใช้สำเนียงนี้ 3.2 เปอร์เซ็นต์

3.สำเนียงกังไส (赣方言 gàngfāngyán)

赣 เป็นชื่อย่อของมณฑลเจียงซี (江西 jiāngxī) หรือคนไทยนิยมเรียกว่ากังไส สำเนียงกังไสกระจายอยู่พื้นที่ส่วนใหญ่ของมณฑลเจียงซี และมีคนจีนชาวฮั่นใช้สำเนียงนี้ 3.3 เปอร์เซ็นต์

4.สำเนียงจีนแคะ(客家方言 kèjiāfāngyán)

客家 หมายถึงจีนแคะ สำเนียงจีนแคะกระจายไปอยู่บางส่วนของหลาย ๆ มณฑล เช่นกวางตุ้ง เจียงซี ฮกเกี้ยน (福建 fújiàn) กวางสี(广西 guǎngxī) เสฉวน(四川 sìchuān) หูหนานและไต้หวัน (台湾 tánwān) มีคนจีนชาวฮั่นใช้สำเนียงนี้ 3.6 เปอร์เซ็นต์

5.สำเนียงเซี้ยงไฮ้(吴方言 wúfāngyán)

吴 เป็นชื่อย่อที่เรียกบริเวณนครเซี่ยงไฮ้(上海 shànghǎi) มณฑลเจียงซู (江苏 jiāngsū)  และเจ้อเจียง(浙江 zhèjiāng) สำเนียงเซี่ยงไฮ้ใช้บริเวณดังกล่าว มีคนจีนชาวฮั่นใช้สำเนียงนี้ 7.2 เปอร์เซ็นต์

6.สำเนียงกวางตุ้ง(粤方言 Yuèfāngyán)

粤 เป็นชื่อย่อของมณฑลกวางตุ้ง สำเนียงกวางตุ้งกระจายอยู่บางส่วนของหลายมณฑลและหลายเขตเช่น กวางตุ้ง กวางสี ฮ่องกง (香港 xiānggǎng) และมาเก๊า (澳门 àomén) และมีคนจีนใช้สำเนียงนี้ 4 เปอร์เซ็นต์

7.สำเนียงฮกเกี้ยน (闽方言 mǐnfāngyán)

闽 เป็นชื่อย่อของมณฑลฝูเจี้ยน หรือคนไทยนิยมเรียกว่าฮกเกี้ยน สำเนียงฮกเกี้ยนกระจายอยู่บางส่วนของมณฑลฮกเกี้ยน ไหหลำ (海南 hǎínán) กวางตุ้ง กวางสี เจ้อเจียง และไต้หวัน สำเนียงฮกเกี้ยนค่อนข้างจะสลับซับซ้อน ประกอบด้วยภาษาท้องถิ่นรอง 2 ภาษาคือสำเนียงฮกเกี้ยนเหนือกับสำเนียงฮกเกี้ยนไต้ และมีคนจีนชาวฮั่นใช้สำเนียงนี้ 5.7 เปอร์เซ็นต์

การแบ่งภาษาท้องถิ่นอาศัยสำเนียงหรือระบบการออกเสียงของแต่ละภาษาเป็นหลัก โดยจะใช้เสียงสำคัญบางเสียงเป็นเกณฑ์ตัดสินโดยทั่วไปแล้วสำเนียงต่าง ๆ ที่คล้ายคลึงกันหรือพอจะพูดคุยกันเข้าใจก็จะจัดให้เป็นภาษาท้องถิ่นเดียวกัน ซึ่งย่อมหมายความว่า ภายในภาษาท้องถิ่นแต่ละภาษายังมีความแตกต่างกันอย่างมาก ทั้งนี้หากจะแบ่งตามความแตกต่างกันเพียงเล็กน้อยแล้ว ภาษาจีนคงสามารถแบ่งเป็นภาษาท้องถิ่นนับร้อยนับพันภาษา

เมื่อเทียบกับภาษาจีนกลางแล้ว สำเนียงฮกเกี้ยนกับสำเนียงกวางตุ้งมีความแตกต่างกันมากที่สุด รองลงมาคือสำเนียงเซี่ยงไฮ้ซึ่งคนจีนภาคกลางและภาคเหนือแทบจะไม่สามารถฟังเข้าใจสามภาษานี้ได้แม้แต่น้อย ส่วนสำเนียงหูหนาน สำเนียงกังไส และสำเนียงจีนแคะ แตกต่างกับภาษาจีนกลางค่อนข้างน้อย พอจะฟังรู้เรื่องเป็นส่วนใหญ่

อาจจะมีบางท่านสงสัยว่า ทำไมไม่เห็นพูดถึงภาษาที่เราคุ้นหูบางภาษาเลยเช่น ภาษาแต้จิ๋ว(潮州话 cháozhōuhuà) ภาษาไหหลำ (海南话 hǎinánhuà) ฯลฯ คำตอบคือ ภาษาเหล่านี้ยังไม่ใหญ่พอที่จะถูกแบ่งออกมาเป็นภาษาท้องถิ่นอีกภาษาหนึ่งตามลำพังได้ ทั้งนี้เพราะภาษาแต้จิ๋วกับภาษาไหหลำต่างก็ถูกจัดให้เป็นส่วนหนึ่งของภาษาฮกเกี้ยน แม้จะไม่ได้อยู่ในเขตของมณฑลฮกเกี้ยนก็ตาม

ในช่วง 20-30 ปีผ่านมานี้ บทบาทและความสำคัญของภาษาท้องถิ่นถูกลดน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด จนกระทั้งบางสำเนียงกำลังหรือจะถูกสำเนียงภาษาจีนกลาง กลืนลงไป เนื่องจากเศรษฐกิจ สังคมและการคมนาคมพัฒนาอย่างรวดเร็ว ความจำเป็นและความต้องการในการใช้ภาษาจีนกลางเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นการเรียนรู้ภาษาจีนกลางในปัจจุบันนี้จึงส่งผลให้เราสามารถนำไปใช้กับคนจีนทั่วโลกได้

ที่มา: หนังสือจุ๊กจิ๊กจอจีน เล่ม1 ผู้เขียน เหยินจิ่งเหวิน