คนไทยเราได้เปรียบมาก ๆ ในการเรียนภาษาจีน การที่จะเรียนให้ถึงขั้นที่พอจะพูดได้ในเรื่องราวทั่วไปที่เกี่ยวกับชีวิตประจำวันและการทำงานนั้นค่อนข้างง่าย เพราะในขั้นนี้ยังถือว่าเป็นภาษาพูด (口语 kǒuyǔ) เกือบทั้งหมด และส่วนที่คล้ายคลึงกันระหว่างภาษาจีนกับภาษาไทยจะช่วยเราได้เยอะ ท่านจะไม่รู้สึกว่าการเรียนการใช้ภาษาจีนจะฝืนความเคยชินในการใช้ภาษาแม่ของตน คือภาษาไทยมากเกินไป แต่ถ้าถึงขั้นที่จะนำเอาความรู้ภาษาจีนมาทำมาหากินหรือประกอบอาชีพนั้น คงต้องใช้ความขยัน ความพยายาม และความอดทนพอสมควร เพราะระดับนี้จะเกี่ยวข้องกับภาษาเขียน (书面语 shūmiànyū) เยอะมาก มันเป็นส่วนที่สืบทอดมาจากภาษาจีนโบราณ ซึ่งมีระบบการเขียนที่สมบูรณ์แบบและใช้มาแล้วไม่ต่ำกว่า 4000 ปี คำพูดและสำนวนต่าง ๆ ยังตกตะกอนอยู่ในภาษาเขียนของปัจจุบันนี้เป็นจำนวนมาก

 

คำว่า "ภาษา" ที่กำลังพูดถึงนี้ ที่จริงมีส่วนประกอบสามส่วนคือ 1.ระบบการออกเสียง (语音系统 yǔyīnxìtǒng) 2. ระบบคำศัพท์ (词汇系统 cíhuìxìtǒng)3.ระบบไวยกรณ์(语法系统 yǔfǎxìtǒng)โดยไม่รวมระบบการเขียนหรือระบบอักษร ซึ่งเป็นสิ่งที่คนเราสามารถกำหนดหรือเปลี่ยนแปลงได้ พูดง่าย ๆ ก็คือระบบการเขียนเป็นแค่เปลือกนอกของภาษา ในขณะที่ส่วนประกอบสามส่วนดังกล่าวนี้เป็นเนื้อใน ถ้าเปรียบเทียบกับคนก็เหมือนเสื้อผ้ากับร่างกายไม่ว่าเราจะใส่เสื้อทรงไหน ยี่ห้อใด ตัวเราเองก็ยังเป็นตัวเราเอง

ความรู้และหลักการทางวิชาภาษาศาสตร์เปรียบเทียบเชิงประวัติศาสตร์ (历史比较语言学 lìshǐbǐjiàoyǔyánxué Historical comparative linguistics)สามารถช่วยอธิบายว่าความคล้ายคลึงกันระหว่างภาษาไทยกับภาษาจีนเกิดจากสาเหตุอะไร ซึ่งปัจจุบันนี้ ทางจีนก็มีผลงานการวิจัยในด้านนี้ค่อนข้างเยอะ และน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง เพราะว่านอกจากสามารถเจาะลึกความสัมพันธ์ระหว่างสองภาษานี้แล้ว ยังช่วยให้เรามองเห็นภาพรวมสำหรับความสัมพันธ์ในอดีตของชนเผ่าหรือชนชาติซึ่งเป็นเจ้าของสองภาษานี้ได้ชัดเจนมากขึ้น จนนำไปสู่การช่วยไขปริศนาที่เกี่ยวกับต้นกำเนิดของชนชาติไทยอย่างสร้างสรรค์และถูกต้องตามหลักวิชาการ แต่ผมรู้สึกน่าเสียดาย เพราะที่ผ่านมายังไม่ค่อยมีนักวิชาการไทยให้ความสนใจกับผลงานการวิจัยของนักวิชาการจีนในด้านนี้อย่างจริงจัง ผมเคยฟังคำบรรยายของนักวิชาการไทยบางท่านที่ถูกยกให้เป็นผู้เชี่ยวชาญในด้านนี้ พูดไปสองสามชั่วโมงยังไม่เห็นมีเนื้อสักชิ้น มีแต่น้ำ(ลาย) คือเดาไป(ตามหลักการ)เรื่อยเปื่อย ไม่มีหลักฐานอะไรเลย

อย่างไรก็ตาม สำหรับประเด็นนี้ถ้าจะอธิบายอย่างละเอียดคงต้องเขียนหนังสืออีกเล่นหนึ่งขึ้นมาแนะนำโดยเฉพาะ ในที่นี้ผมแค่สรุปผลงานการวิจัยของนักวิชาการที่ผมเชื่อว่า สองภาษานี้เป็นสองภาษาที่มีความสัมพันธ์ทางสายเลือด(亲属语言 qīnshǔyǔyán)เนื่องจากบรรพบุรุษของเจ้าของภาษาสองภาษานี้เคยดำเนินชีวิตอยู่ในบริเวณที่ใกล้เคียงกันและเคยมีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดในสมัยดึกดำบรรพ์ หรืออาจจะเป็นเผ่าเดียวกันที่แตกแยกออกจากกัน จนกลายเป็นคนละเผ่าในทีหลังก็ได้ ซึ่งอาจต้องย้อนไปเป็นหมื่น ๆ ปีเลยทีเดียว จึงสงผลทำให้สองภาษานี้มีส่วนที่เหมือนกันหรือคล้ายคลึงกันเป็นจำนวนมากมายจนถึงทุกวันนี้อย่างไม่น่าเชื่อ (ในส่วนนี้ไม่รวมคำศัพท์ภาษาแต้จิ๋ว หรือภาษาท้องถิ่นของภาษาจีนอีกหลายภาษาที่ถูกนำมาใช้ในภาษาไทยในปัจจุบันเพราะคำศัพท์เหล่านี้เข้ามาในภาษาไทยอย่างมากก็ไม่กี่ร้อยปีตามชาวจีนที่อพยพมา) เราสามารถกล่าวได้ว่า นอกจากภาษาต่าง ๆ ที่จัดอยู่ในกลุ่มภาษาไท (Tai ซึ่งมีภาษาไทยเป็นภาษาที่สำคัญภาษาหนึ่งในกลุ่มนี้) แล้ว ในโลกคงไม่มีภาษาไหนใกล้เคียงกับภาษาไทยมากว่าภาษาจีนอีกแล้ว

ที่มา: หนังสือจุ๊กจิ๊กจอจีน เล่ม1 ผู้เขียน เหยินจิ่งเหวิน