ช่วงนี้กระแสความนิยมในการเรียนภาษาจีนกำลังมาแรง นักเรียนไทยไปเรียนภาษาจีนที่ต่างประเทศเริ่มจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยคนที่มีโครงการจะไปเรียนภาษาจีนคงจะต้องตั้งคำถามในใจว่า จะไปเรียนที่ไหนดี นี่คือคำถามที่ผมต้องตอบเป็นประจำ

1. คนที่ยังไม่เคยเรียนหรือไม่มีพื้นฐานความรู้ภาษาจีนเลย

ขอแนะนำเรียนในเมืองไทยก่อน อย่าเพิ่งไปเลย อ้อ ไม่ให้กำลังใจนี่หว่า เปล่าครับ เพราะถ้าคุณยังพูดอะไรไม่ได้ ไปนับหนึ่งใหม่ที่ต่างแดนคงยุ่งยากพอสมควร ทั้งเรื่องการเรียนและชีวิตความเป็นอยู่ พูดถึงเฉพาะด้านการเรียน คุณไปถึงที่นั่นต้องเผชิญกับปัญหาสื่อที่ใช้ในการเรียนการสอนอย่างแน่นอน กล่าวคือ ทางต่างประเทศคงต้องใช้ภาษาที่สาม ซึ่งคงเป็นภาษาอังกฤษมาสอนภาษาจีน ถ้าคุณเก่งภาษาอังกฤษอยู่แล้วคงช่วยได้เยอะ ไม่งั้นคงเป็นเรื่องที่หนักใจ แต่ถ้าเรามองในอีกแง่มุมหนึ่ง

การที่เริ่มเรียนภาษาต่างประเทศใหม่ภาษาหนึ่งนั้น ถ้าไปเริ่มต้นที่ต่างประเทศ แน่นอน คงได้เปรียบด้านสภาพแวดล้อมและปัจจัยอีกหลายด้าน และคงเห็นผลเร็วกว่า เพราะต้องใช้ทุกวัน แต่ว่าในช่วงเริ่มต้น ผลที่ได้มาคงไม่ได้ดีไปกว่าการเริ่มต้นที่เมืองไทยมากนัก เพราะที่เมืองไทย ครูที่มีประสบการณ์ในการสอนภาษาจีนให้คนไทยโดยเฉพาะ ย่อมสอนได้ตรงประเด็นมากว่าครูในต่างแดน ยิ่งถ้าคำนึงถึงเรื่องค่าใช้จ่าย การที่ต้องลาออกจากงาน หยุดงาน หรือหยุดเรียนชั่วคราวเพื่อไปเรียนภาษาจีนโดยเฉพาะ คุณลองคิดดูสิว่าจะคุ้มไหม

 

แต่ถ้าเป็นคนที่มีพื้นฐานความรู้ภาษาจีนอยู๋บ้างแล้ว และมีกำลังทรัพย์ไปเรียน ผมสนับสนุนเต็มที่เลย ปัญหาอยู๋ที่ว่าเรียนถึงขั้นไหนถึงจะเหมาะสมไปเรียนต่อที่ต่างประเทศ คงไม่ต้องมากครับ มีคำศัพท์ประมาณสัก 500-600 คำก็น่าจะไปลุยได้แล้ว และถ้ามีคำศัพท์สักประมาณ 1000 คำ รวมทั้งเรียนรู้ประโยคพื้นฐานของภาษาจีนครบแล้วก็จะยิ่งดีเลย เพราะเป็นการต่อยอด จะเห็นผลเร็วและชัดเจนมาก ไปเรียนสักปีหนึ่งปีหรือแม้กระทั้งครึ่งปีกลับมาแล้ว เรื่องทั่วไปที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันและการทำงานพูดได้คล่องแน่นอน

2. ไปเรียนที่ประเทศไหนดี

มีสามที่ให้เลือกคือ จีน ไต้หวัน และสิงคโปร์ ทั้งสามที่ต่างก็มีจุดเด่นของตนเอง แล้วแต่เราจะไปเลือกตามความต้องการและความเหมาะสม ทีนี้ขอพูดถึงประเด็นหนึ่งที่เป็นองค์ประกอบในการตัดสินใจ ซึ่งเป็นประเด็นที่บางคนห่วงไม่น้อย นั่นก็คือ ปัญหาตัวหนังสือตัวเต็ม (繁体字 fántǐzìกับตัวหนังสือตัวย่อ (简体字 jiǎntǐzì) ปัจจุบันนี้จีนกับสิงคโปร์ใช้ตัวย่อ ส่วนไต้หวันใช้ตัวเต็ม

สำหรับคนที่มีความรู้ภาษาจีนค่อนข้างดีอยู่แล้ว ไม่ว่าเมื่อก่อนใช้ตัวเต็มหรือตัวย่อ การปรับตัวไปใช้อีกระบบหนึ่งคงไม่ใช่เรื่องยากเพราะทั้งสองระบบนี้มีตัวหนังสือที่ต่างกันแค่ 2238 ตัวเท่านั้น ที่เหลือเหมือนกันหมด และไม่ต้องไปเรียนโดยเฉพาะ เวลาอ่าน แค่ตั้งใจจดจำนิดหนึ่ง ผ่านไปสัก 1-2 อาทิตย์ก็ชินแล้ว เพราะว่าการเปลี่ยนแปลงระหว่างตัวเต็มกับตัวย่อ ส่วนใหญ่สามารถทำการอนุมานเปรียบเทียบกับตัวอื่นได้ บางทีจำได้แค่คู่เดียวก็เท่ากับจำได้เป็นร้อย ๆ ตัว แต่สำหรับคนที่เพิ่มเริ่มต้นไม่นาน การเลือกให้เหมาะกับตนเองย่อมจะสะดวกกว่า จะได้ไม่ต้องเสียเวลาปรับตัว เช่น ถ้าเคยเรียนตัวเต็มไปเรียนต่อที่ไต้หวันคงจะสะดวกกว่า เคยเรียนตัวย่อก็ไปต่อที่จีนหรือสิงคโปร์ อย่างไรก็ตาม แม้เป็นผู้ที่เริ่มต้นไม่นาน การปรับตัวระหว่างสองระบบนี้ก็ไม่ได้ยุ่งยากอะไรมาก แค่เอาตัวหนังสือที่ต่างกันไปท่องจำสักหน่อยก็หมดเรื่อง ไม่ใช่ประเด็นที่จะต้องซีเรียสแต่อย่างใด การตัดสินใจไปเรียนที่ไหนขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่นมากกว่า

3. ถ้าไปเรียนที่จีน ไปเรียนที่เมืองไหนดี

ตอนนี้มีคนไทยไปเรียนหลักสูตรชนิดต่าง ๆ ที่จีนเป็นจำนวนมาก เมืองยอดนิยมคือปักกิ่ง ได้ข่าวว่าตอนนี้มีนักเรียนไทยอยู่ที่นั้นเกือบ 5000 คน(รวมคนที่ไปเรียนวิชาอื่น ๆ ด้วย) ปักกิ่งได้เปรียบเมืองอื่น ๆ หลายด้าน จึงไม่แปลกเลยที่มีคนแห่กันไปเรียน แต่ช่วงหลัง ๆ นี้ถ้ามีใครมาปรึกษาเรื่องไปเรียนจีน ผมมักจะแนะนำให้พิจารณาเมืองอื่นบ้าง เหตุผลอย่างหนึ่งก็คือ ตอนนี้มีคนไทยไปเรียนภาษาจีนที่ปักกิ่งเยอะ คนไทยด้วยกันไปรวมตัวอยู่ที่เดียว อาจส่งผลเสียต่อการเรียนภาษาค่อนข้างมาก เพราะพูดแต่ภาษาไทย มีมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในปักกิ่ง ตอนนี้มีนักเรียนไทยไปเรียนภาษาตั้ง 300 คนทีเดียว เรียกได้ว่าไปถึงที่ไหนเจอแต่คนไทย ที่จริงการไปเรียนภาษาที่ต่างประเทศนั้น ผมว่าอันดับแรกเราควรจะพิจารณาสภาพแวดล้อมของที่นั้นว่าเหมาะสมกับการเรียนหรือไม่ บางทีเราน่าจะจงใจทำให้ตนเองอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ถูกบังคับให้ใช้ภาษาต่างประเทศจะดีกว่า

สำหรับการไปเรียนภาษาจีนที่เมืองจีนนั้น ผมมีข้อคิดมาฝากไว้อีก 2 ข้อดังนี้

  1. มีอยู่ประเด็นหนึ่งที่คนไทยเราต้องทำความเข้าใจให้ถูกต้อง คือ เมืองจีนมีแผ่นดินกว้างใหญ่ และมีมหาวิทยาลัยจำนวนมากระจัดกระจายไปทั่วทุกมณฑล ซึ่งในจำนวนนี้มีไม่น้อยเป็นมหาวิทยาลัยเกรดเอ และมีหลักสูตรพิเศษสำหรับชาวต่างชาติ ไม่ใช่มีแต่เมืองหลวงปักกิ่งที่มีมหาวิทยาลัยดัง ๆ เรื่องนี้ต่างกับเมืองไทยราวฟ้ากับดินเลย ดังนั้นเมืองต่าง ๆ ที่ตอนนี้ยังไม่มีหรือไม่ค่อยมีคนไทยไปเรียนกัน น่าจะเป็นทางเลือกที่เหมาะสม แถมบางเมืองค่าใช้จ่ายอาจถูกว่าปักกิ่งเยอะ ถ้าเป็นเมืองทางใต้หรือทางตะวันออกเฉียงใต้ หน้าหนาวอากาศก็ไม่ค่อยหนาวสักเท่าไหร่ คนไทยอยู่ได้สบาย ๆ
  2. เป็นที่ทราบกันดีว่า สำเนียงภาษาจีนกลางใช้สำเนียงปักกิ่งเป็นหลักในการกำหนดมาตราฐาน คนปักกิ่งจึงพูดภาษาจีนกลางชัด ดังนั้นจึงมีคนเป็นห่วงว่า ถ้าไปเรียนที่อื่นกลัวจะไม่ได้สำเนียงแท้ ๆ กลับมา เรื่องนี้ไม่ต้องเป็นห่วง การใช้ชีวิตประจำวันในรั้วมหาวิทยาลัยจะทำให้คุณได้สำเนียงที่ได้มาตรฐานอย่างแน่นอน เพราะทั้งอาจารย์ผู้สอนกับเพื่อนนักศึกษาชาวจีนที่อยู่รอบ ๆ ตัวคุณ ส่วนใหญ่คงออกเสียงได้ดีมากหรือค่อนข้างดี เวลาออกไปข้างนอก พูดคุยกับชาวบ้านที่ปกติอาจใช้แต่สำเนียงภาษาท้องถิ่น แต่ถ้าเราใช้ภาษาจีนกลาง เขาก็จะตอบกลับมาด้วยภาษาจีนกลาง เพราะว่าตอนนี้คนที่อยู่ในเมืองส่วนใหญ่พูดภาษาจีนกลางได้ ยกเว้นคนบางส่วนที่มีอายุหน่อย แน่นอน สำเนียงของพวกเขาเหล่านั้นคงไม่ดีเท่าคนปักกิ่ง แต่อย่าลืมว่าไม่มีใครกล้ารับรองว่าวันหลังคุณจะเจอแต่คนจีนที่ออกเสียงได้มาตรฐานทุกคน คุณอาจจะต้องใช้ภาษาจีนพูดคุย ค้าขายกับคนจีนที่พูดภาษาจีนกลางไม่ชัด การที่คุ้นเคยกับสำเนียงที่ไม่ได้มาตรฐารตั้งแต่ตอนนี้อาจเป็นผลดีต่อคุณด้วยซ้ำไป

 

ที่มา: หนังสือจุ๊กจิ๊กจอจีน เล่ม1 ผู้เขียน เหยินจิ่งเหวิน